สมาชิก@AD

วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

ทองม้วน


หลายคนคงมีฝัน อยากเป็นเจ้าของกิจการมูลค่านับสิบล้าน ที่สินค้าสามารถส่งไปขายต่างแดน ความฝันดังกล่าว คงคิดว่ายากเกินหวังให้เป็นจริง แต่จากการสร้างธุรกิจของ “ทองม้วนวันวิไล” ที่นำขนมไทยธรรมดาๆ มาวางตำแหน่งให้เหมาะสม เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ถ้ามีแผนตลาดที่ดี โอกาสประสบความสำเร็จย่อมเป็นไปได้

ปราโมทย์ ไชยอุฬาร กรรมการผู้จัดการบริษัท วัน-วิไล ซินดิเคท จำกัด ผู้ผลิต “ทองม้วนวันวิไล”


เล่าว่า เดิมเคยเป็นตัวแทนจำหน่ายคุกกี้นำเข้าจากต่างประเทศ จนเห็นจุดอ่อนจุดแข็งในธุรกิจประเภทนี้ และเมื่อมองย้อนกลับมาที่ขนมไทยอย่างทองม้วน มีศักยภาพไม่ได้เป็นรองคุกกี้เลย นำมาสู่แรงบันดาลใจสร้างธุรกิจของตัวเอง โดยปรับโฉมทองม้วนเพื่อบุกตลาดต่างประเทศ“ผมไม่ได้ต่อต้านขนมต่างประเทศ แต่รู้สึกว่า ขนมไทยก็มีดีไม่แพ้กัน และที่เลือกทองม้วน เพราะเริ่มแรกที่เรามองหาสินค้า มีโอกาสไปเที่ยวญี่ปุ่น ขณะนั่งรถทัวร์ก็มีการแจกทองม้วนปี๊บ เรากินแล้วไม่อร่อยเลย พอหันมองรอบข้าง ทุกคนกินกันจนหมด เราก็คิดว่า เราทำได้ดีกว่านี้แน่ พอกลับมาถึงบ้านเล่าให้ภรรยาฟัง ภรรยาบอกว่าคุณแม่ทำได้ เป็นทองม้วนสูตรลพบุรี เลยขอสูตรมาลองทำดู”การวางกลยุทธ์ตลาดให้สินค้า ปราโมทย์ ระบุว่า เป้าหมายชัดเจนต้องเป็นขนมระดับพรีเมียม สำหรับตลาดต่างประเทศ สิ่งสำคัญ จะก้าวไปถึงได้นั้น ต้องสร้างมาตรฐาน โดยกำหนดสูตรให้ได้รสชาติที่ 8 จาก 10 คนพอใจ แล้วกำหนดการผลิตแบบชั่งตวงวัดให้คุณภาพนิ่ง รวมถึงปรับปรุงสถานที่ผลิตให้ได้มาตรฐานสากลต่างๆ อาทิ GMP , HACCP ซึ่งเป็นผู้ผลิตทองม้วนรายแรกที่ผ่านมาตรฐานเหล่านี้“มาตรฐานสินค้า จำเป็นต่อการส่งออก ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงมาก แต่อยู่ที่การจัดการ เครื่องมือของเรา ก็เหมือนกับที่ทำทองม้วนขายทั่วไป วิธีการผลิตก็เช่นกัน ยังเป็นงานทำมือล้วนๆ แต่เรามาจัดระบบ เช่น ให้สถานที่สะอาด ถูกระเบียบ เมื่อเจ้าหน้าที่มาตรวจ เขาก็อนุมัติให้”ทองม้วน วันวิไล ออกตลาดเมื่อ ปี 2541 เจ้าของธุรกิจ เล่าว่า ใช้ทุนเริ่มแรกไม่ถึงแสนบาท ทำกันแค่ตัวเองกับภรรยา และพนักงานอีก 2 คน โดยนำไปฝากขายที่ร้านในซอยละลายทรัพย์ด้วยตัวเอง หลังจากนั้น ประมาณ 1 เดือน ก็เริ่มมีคำสั่งซื้อมาจากที่อื่นๆ รวมถึงต่างประเทศด้วยส่วนที่ทำให้กิจการเติบโตแบบก้าวกระโดด เกิดขึ้นหลังจากเริ่มวางตลาดมาได้ 1 ปี เพราะได้เป็นผู้ผลิตทองม้วนเจ้าเดียวที่เข้าขายในดิวตี้ฟรี รวมถึงเมื่อปี 2546 ได้รับคัดเลือกจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้ผลิตเสิร์ฟบนสายการบินไทย สายการบินภูเก็ต และสายการบินบางกอกแอร์เวย์“คนทั่วไป จะคิดว่า การจะเข้าไปขายในดิวตี้ฟรี หรือเสิร์ฟบนเครื่องบิน เป็นเรื่องยาก และต้องมีนอกมีในด้วย แต่ผมยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด ถ้าเราทำตามมาตรฐานที่เขากำหนดได้ อย่างผมก็เอาสินค้า ไปเสนอที่ฝ่ายจัดซื้อของเขาตามขั้นตอนด้วยตัวเอง และอธิบายคอนเส็ปท์ของเรา ให้เขาทดลองสินค้า จนเกิดความไว้วางใจ และตัดสินใจเลือกเรา”


ปราโมทย์ เสริมว่า การผลิตส่งขึ้นเครื่อง จะทำการพัฒนาสินค้าร่วมกับสายการบิน ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ ปริมาณบรรจุ“เคยมีคนมาถามผมเหมือนกันว่า ทำไมซองที่เสิร์ฟบนเครื่อง น้อยจัง ซองหนึ่งมีแค่ไม่กี่ชิ้น ซึ่งส่วนนี้ เราพัฒนาร่วมกับสายการบิน ซึ่งเขาจะมองเหนือว่า เราขั้นหนึ่ง เช่น เขาจะคำนวณแล้วว่า ต้องขนาดเท่าไร ไม่ยาวเกินไป ให้พอดีคำ เพื่อไม่ให้กินแล้วแตก เป็นเศษเลอะเสื้อผ้าผู้โดยสาร หรือเลอะเครื่องบิน ซึ่งเขาต้องเพิ่มต้นทุนการทำความสะอาด หรืออย่างจำนวนชิ้น เขาก็คำนวณแล้วว่า ไม่ให้อิ่มเกินไป เพื่อจะไม่ได้เหลือ ทิ้งบนเครื่อง”ด้วยตำแหน่งสินค้าที่วางเป็นระดับพรีเมียม ราคาจึงสูงกว่าสินค้าชนิดเดียวกันตามท้องตลาด ประมาณ 1 เท่าตัว โดยการตั้งราคา จะดูจากสินค้าตัวเอง กับสินค้าในตลาด แล้วนำเปรียบเทียบดูความเหมาะสม สำหรับราคาขายปลีกทองม้วนวันวิไล ขนาดกล่องละ 100 กรัม ราคา 25 บาท และขนาดกล่องละ 200 กรัม ราคา 50 บาท มีด้วยกัน 3 รสชาติ ได้แก่ รสต้นตำรับ กาแฟ และชาเขียว นอกจากนั้น ยังมีการออกสินค้าต่อเนื่องอื่นๆ รวมกว่า 10 รายการ เช่น โกโกคัฟส์ ซึ่งเป็นการนำเศษทองม้วนที่แตกหัก มาราดด้วยช็อกโกแลต ขนาด 150 กรัม ราคา 250 บาท กลายเป็นสินค้าใหม่ที่ได้รับความนิยมเช่นกันด้านปัญหาของธุรกิจ เจ้าของธุรกิจ ระบุว่า ในช่วงเริ่มต้น จะขาดแหล่งเงินทุน เพราะเวลานั้น สถาบันการเงินต่างๆ ไม่เชื่อว่า ขนมไทยอย่างทองม้วนจะกลายเป็นส่งออกได้“การที่เราคิดอยากจะทำอะไรสักอย่าง ก็ไม่ใช่ว่าจะได้ไปเสียทุกอย่าง เช่น เงินลงทุน เพราะตอนเราเริ่มทำแทบจะไม่มีใครสนับสนุนแนวคิดเลย ส่วนใหญ่มักคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ บางคนดูถูกเราด้วยซ้ำไป ยิ่งธนาคารไม่ต้องพูดถึง พอรู้ว่ากู้เงินไปลงทุนทำทองม้วนก็โดนปิดโอกาสทันที แต่เราก็ไม่ได้โกรธอะไร เพราะเข้าใจว่าเขามองไม่เห็นโอกาสเหมือนกับที่เราเห็น”นับจากจุดเริ่มต้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว วันนี้ ต่อเดือนมียอดผลิตทองม้วนกว่า 12 ตัน พนักงานขยายเป็นหลักร้อย ส่งเสิร์ฟบนสายการบินมาแล้วกว่า 2 ล้านซอง มูลค่าธุรกิจนับสิบล้านบาท โดยสัดส่วนส่งตลาดต่างประเทศ ประมาณ 20% อาทิ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน ส่วนอีก 80% เป็นส่งออกทางอ้อม ผ่านร้านดิวตี้ฟรี และสายการบินต่างๆปราโมทย์ อธิบายเสริมในส่วนตลาดในประเทศ ที่ผ่านมา ไม่ได้วางขายเลย เพราะราคาสูงเกินการยอมรับของคนไทยส่วนใหญ่ ประกอบกับกลัวจะลอกเลียนแบบ ทว่า ปัจจุบัน มั่นใจว่าตราสินค้ามีความเข้มแข็ง จึงเตรียมจะขยายตลาดในประเทศเร็ว ๆนี้“ที่ผ่านมา ผมยังมองว่า พฤติกรรมการบริโภคของคนไทย ยังสวนทางกับราคาของเรา และหากวางในประเทศ ผมกังวลการลอกเลียนแบบ เพราะจริงๆ แล้ว ก็ผลิตไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย มันอยู่ที่ระบบจัดการบริหาร การทำแพคเกจ ซึ่งเลียนแบบกันไม่ยาก

อย่างข้าวแต๋นที่ทำออกมาสวยๆ เป็นแพคเกจสีน้ำตาล ก็มีตามออกมาเหมือนกัน จนไม่รู้ว่า ใครเป็นเจ้าแรก ดังนั้น ผมจึงรอให้สร้างแบรนด์ให้เข้มแข็งก่อน ซึ่งตอนนี้ คิดว่าพร้อมแล้ว”นอกจากนั้น แผนงานต่อไป จะเปิดตลาดต่างประเทศใหม่ เช่น เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา อีกทั้ง กำลังขยายโรงงานผลิต ด้วยการกู้เงินกว่า 20 ล้านบาท จากสถาบันการเงินหลายแห่ง คาดว่าจะเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มการผลิตได้อีก 2-3 เท่าตัวเจ้าของธุรกิจ สรุปว่า สินค้าของเขา ไม่ได้แปลกใหม่ ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย หรือเงินทุนมหาศาล หากแต่วางตำแหน่งสินค้าถูกต้อง และมีระบบบริหารที่เหมาะสม จากทองม้วนธรรมดาๆ จึงกลายมาธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน



ไม่มีความคิดเห็น:

Museum of siam